top of page

ภาพแสดงขั้นตอนและกระบวนการฝึกฝนและพัฒนาจิตแบบอานาปานสติ Anapanasati Meditation


อานาปานสติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเป็นจิตภาวนาวิธีที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา คืออำนวยประโยชน์ให้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ทำให้ชีวิตสงบเย็นและสว่างไสวด้วยธรรมะที่จำเป็นแก่การดำเนินชีวิต คือ สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา พระบรมศาสดาจึงทรงชี้ชวนแนะนำให้ภิกษุปฏิบัติให้มาก กระทำให้มาก โดยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ด้วย อานาปานสติวิหาร ทั้งเมื่อกาลตรัสรู้หรือหลังจากนั้น

พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ด้วยอานาปานสติ


ภิกษุทั้งหลาย! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ ภิกษุทั้งหลาย! แม้เราเอง เมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนกาลตรัสรู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน


ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน” ดังนี้แล้วไซร้ อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้น พึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี


“อานาปานสติภาวนา” แบ่งเป็น 4 หมวด หมวดละ 4 ขั้น รวมเป็น 16 ขั้น หมวดที่ 1 กำหนดเรื่อง กาย คือลมหายใจ หมวดที่ 2 กำหนดเรื่องเวทนา หมวดที่ 3 กำหนดเรื่องจิต หมวดที่ 4 กำหนดในเรื่องธรรมที่ปรากฏแก่จิต


จึงเป็นสติปัฏฐานสี่ มีการปฏิบัติติดต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดระยะ ทั้ง 16 ขั้น ระบบปฏิบัติอานาปานสติภาวนาอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ เพราะว่าเป็นระบบเดียวเท่านั้นที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด ในการจะปฏิบัติ ระบบอื่นจะไม่สมบูรณ์บ้าง จะกระท่อนกระแท่นบ้าง จะยากลำบากในการที่ต้องรื้อขนบ้าง ลมหายใจไม่ต้องรื้อถอน เพราะมันมีอยู่ในตัวเราแล้ว. แต่ถ้าเราไปกำหนดกสิณ หรืออสุภะ จะต้องมีการรื้อขนไปมา ไปหา-มาหา ส่วนลมหายใจนี้มันมีอยู่ในตัวเราแล้ว ไปที่ไหนก็อยู่ที่นั่น กำหนดได้ง่ายแล้วสบาย พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญในข้อนี้ คือว่าสะดวกและง่าย ทั้งไม่น่าหวาดเสียว ภาวะที่น่าหวาดเสียวจะไม่ปรากฏในระบบของ อานาปานสติภาวนา ผิดจากระบบอื่นเช่น อสุภะ เป็นต้น จะมีอาการน่าหวาดเสียว. ฉะนั้นจึงทรงแนะนำ อานาปานสติภาวนา แม้แก่ภิกษุที่เบื่อความเป็นอยู่จนถึงไปคิดฆ่าตัวเอง พระองค์ก็ทรงแนะนำกัมมัฏฐานระบบนี้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่สัปปายะ ทำให้ มีความสบายยิ่งกว่ากัมมัฏฐานระบบใดหมด.


การปฏิบัติตามแนวของ อานาปานสติสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎก เนื่องจากต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง รู้ความที่มันสัมพันธ์กันแต่ต้นจนปลาย รู้ความมุ่งหมาย รู้มูลเหตุ คือความที่มองเห็นอยู่ว่า ไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่เที่ยง เป็นต้น และต้องการให้ความรู้สึกว่า ไม่เที่ยงและไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ อยู่ในใจของเราประจำอยู่ตลอดเวลา แล้วเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจิตมันไม่ยอมทำ ไม่ยอมให้มีความเห็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา มันดิ้นรนที่จะเป็นอย่างอื่นเสีย ฉะนั้นจึงต้องมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะบังคับปรับปรุงจิตให้อยู่ในวิสัยที่ยอมไปในทางจะมองเห็นความไม่เที่ยง หรือความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนี้อยู่ตลอดเวลา ในวิธีการที่ว่านั้นก็คือ ระบอบของอานาปานสติ 16 ขั้น หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ ที่อยู่ใน รูปของอานาปานสติ 16 ขั้นนี้ (มาในอานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย)


ขั้นที่ 1 เมื่อหายใจออก-เข้ายาว ก็รู้ (รู้จักการหายใจยาว) (ปชานาติ) 2 เมื่อหายใจออก-เข้าสั้น ก็รู้ (รู้จักการหายใจสั้น) (ปชานาติ) 3 รู้ “กายทั้งปวง” (รู้ข้อเท็จจริงทั้งปวงของกาย) (สพฺพกายปฏิสํเวที) 4 ระงับ “กายสังขาร (ทำกายสังขารให้รำงับ ๆๆ จนสมาธิปรากฏ) (ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ) ( 1-4 = หมวดที่ 1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ขั้นที่ 5 รู้พร้อมเฉพาะปีติ (เป็นผลของการรำงับกายสังขาร) (ปีติปฏิสํเวที) 6 รู้พร้อมเฉพาะสุข (เป็นผลของการรำงับกายสังขาร) (สุขปฏิสํเวที) 7 รู้พร้อมเฉพาะจิตสังขาร (คือ ปีติ สุข ฯลฯ) (จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที) 8 ระงับ “จิตสังขาร” (ทำให้จิตสังขารรำงับลง ๆๆ) (ปสฺสมฺภยํ จิตฺสงฺขารํ) (5-8 = หมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ขั้นที่ 9 รู้พร้อมเฉพาะจิต (รู้ทั่วถึงลักษณะของจิตทุกชนิด) (จิตฺตปฏิสํเวที) 10 ทำจิตให้ปราโมทย์ (บังคับจิตให้ปราโมทย์ตามต้องการ) (ปโมทยํ จิตฺตํ) 11 ทำจิตให้ตั้งมั่น (บังคับจิตให้ตั้งมั่น ตามต้องการ) (สมาทหํ จิตฺตํ) 12 ทำจิตให้ปล่อย (บังคับจิตให้ปล่อยอารมณ์ในขณะนั้น) (วิโมจยํ จิตฺตํ) (9-12 = หมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ขั้นที่ 13 เห็นความไม่เที่ยง (เห็นธรรม คือ ความไม่เที่ยง) (อนิจฺจานุปัสฺสี) 14 เห็นความจางคลาย (เห็นธรรม คือ จางคลาย) (วิราคานุปสฺสี) 15 เห็นความดับ (เห็นธรรม คือ ดับกิเลส-ทุกข์) (นิโรธานุปสฺสี) 16 เห็นความสละคืน (เห็นธรรม คือ สลัดคืน) (ปฏินิสฺสคานุปสฺสี) (13-16 = หมวดที่ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)


สรุปความว่า เพราะเหตุที่กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก การกระทำอย่างนี้จึงได้ชื่อว่า “อานาปานสติภาวนา”. ทุกขั้น ได้ชื่อว่า อานาปานสติภาวนา เพราะกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก. ให้ดูเค้าโครงรายชื่อทั้ง 16 ขั้นอีกที จะเห็นได้ว่า สองขั้นแรก “กำหนดตัวลมหายใจนั่นเอง อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก”. ถัดมา “กำหนดกาย” “กำหนดกายสังขาร” “กำหนดปิติ” “กำหนดสุข” อะไรเรื่อยมา เปลี่ยนแทนกันเรื่อยมา จนวาระสุดท้าย แต่แล้วก็ต้องกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกโดยตลอด.


ขอให้จับใจความของอานาปานสติภาวนาให้ได้ที่ตรงนี้ ว่ากำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วก็เรียกว่า “อานาปานสติภาวนา” ทั้งนั้น แต่เนื่องจากในที่นี้เราต้องการเรื่องความดับทุกข์โดยตรง จึงกำหนดแต่ทุกสิ่งที่จะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความดับทุกข์. ว่าโดยที่แท้แล้ว จะกำหนดหรือคิดถึงอะไรก็ได้ ตามแต่จริตของตัวเอง หรือทำแล้วเข้ากับตัวเอง ทำแล้วจิตสงบเร็วทำได้ดี ก็ให้กำหนดสิ่งนั้นแทนลมหายใจ หรือคิดถึงพระพุทธรูปอยู่ ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติเหมือนกัน ก็คือกำหนดสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ ดังนั้นอารมณ์ทั้งหมดทุกขั้น จึงเป็นเรื่องความดับทุกข์ที่ต่อเนื่อง หรือส่งให้กันและกันเป็นลำดับมา


ผลที่จะพึงได้จากอานาปานสติตามลำดับ นอกจากจะต้องรู้ความสัมพันธ์แก่กันและกัน ระหว่างขั้นว่ามันมีคาบเกี่ยวระหว่างขั้นแล้ว ต่อไปก็ยังต้องทราบแนวที่มันคาบเกี่ยวกัน ระหว่างอานาปานสติภาวนานี้ กับสติปัฏฐานสี่, กับโพชฌงค์, กับวิชชาและวิมุตติอีก 4 เรื่องด้วยกัน. ในบาลี มีข้อเท็จจริงตอนนี้ มีอยู่ในรูปพระพุทธภาษิต ว่า : "อานาปานสติ ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรนฺติ ; อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์. สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา โพชฌงฺเค ปริปูเรนฺติ ; สติปัฏฐาน อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์. โพชฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติ ; โพชฌงค์เจ็ด อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้สมบูรณ์


ย่อสรุปใจความจาก หลักปฏิบัติอานาปานสติสูตร โดยหลวงพ่อพุทธทาส


 

Anapana sati, the meditation on in-and-out breathing, is the first subject of meditation expounded by the Buddha in the Maha-satipatthana Sutta, the Great Discourse on the Foundations of Mindfulness. The Buddha laid special stress on this meditation, for it is the gateway to enlightenment and Nibbana adopted by all the Buddhas of the past as the very basis for their attainment of Buddhahood.


Stages of Ānāpānasati


Formally, there are sixteen stages – or contemplations – of ānāpānasati. These are divided into four tetrads (i.e., sets or groups of four). The first four steps involve focusing the mind on breathing, which is the 'body-conditioner'. The second tetrad involves focusing on the feelings, which are the 'mind-conditioner'. The third tetrad involves focusing on the mind itself, and the fourth on 'mental qualities'.


Any ānāpānasati meditation session should progress through the stages in order, beginning at the first, whether the practitioner has performed all stages in a previous session or not.


The Buddha’s teaching on anapanasati is a very direct teaching. Our practice is not ‘to become enlightened’, but to be in the knowing, now.


bottom of page