top of page

กาลจักร Wheel of Life


Wheel of Life

ภาพนี้วาดบนหน้าจั่วในศาลาด้านทางออก เป็นภาพหลักของฝ่ายปริยัติสัทธรรม เป็นภาพกาลจักร หรือ Wheel of Life แบบทิเบต แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท

 

เรื่องปฏิจจสมุปบาท โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ


”ถ้าถามว่าปฏิจจสมุปบาทคืออะไร ก็ตอบว่าปฏิจจสมุปบาทคือการแสดงให้ทราบว่า ทุกข์จะเกิดขึ้นมาอย่างไร และจะดับลงไปอย่างไรโดยละเอียด และแสดงให้ทราบว่า การที่ทุกข์เกิดขึ้นและดับไปนั้น มีลักษณะเป็นธรรมชาติที่อาศัยกันและกัน”


“รู้เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อให้รู้ถูกต้องและให้ดับทุกข์เสียได้ จะดับทุกข์ได้โดยวิธีใด ก็โดยวิธีที่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท คืออย่าให้กระแสปฏิจจสมุปบาทมันเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่ามีสติ รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา”


”โดยหลักทั่ว ๆ ไปจะมีได้โดยการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ การมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง หรือการเป็นอยู่ที่ชอบ ความเป็นอยู่ที่ชอบนั้นก็คือ การเป็นอยู่ที่สามารถทำลายอวิชชาเสียได้ด้วยวิชชา คือการเป็นอยู่ที่ทำลายความโง่เสียได้ด้วยความรู้ หรือถ้าจะสรุปความอีกทีหนึ่งก็เป็นการสรุปความว่า คือการมีสติอยู่ตลอดเวลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสติเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ความโง่เกิดไม่ได้ อวิชชาเกิดไม่ได้ สามารถขจัดอวิชชาออกไปเสียได้ มันเหลืออยู่แต่วิชชาหรือความรู้ นี้แหละคือความเป็นอยู่ชอบ เป็นอยู่ชนิดที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ โดยหลักใหญ่ ๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันมีอยู่อย่างนี้”


”ขอยืนยันว่าที่ได้พยายามค้นคว้าต่อมาตลอดเวลาหลายสิบปีนี้ ได้พบปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอย่างนี้คือ ปฏิจจสมุปบาทที่อยู่ในขอบเขตที่เราควบคุมได้ ปฏิบัติได้ มีสติถูกต้องป้องกันได้ทันควันในขณะที่อารมณ์มากระทบ อย่างเดียวที่เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่มีประโยชน์ที่เป็นหลักของการปฏิบัติ ถ้าถามว่าปฏิบัติอย่างไร ไม่มีคำตอบอย่างอื่นนอกจากว่า มีสติ เมื่อมีอารมณ์มากระทบ อย่าเผลอสติ อย่าให้เกิดอวิชชาปรุงสังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ชนิดที่จะไปเป็นทุกข์"

 

ปฏิจจสมุปบาท /ปะติดจะสะหฺมุบบาด/ (สันสกฤต:ปรตีตยสมุตปาทะ)

เป็นหลักธรรม อันเป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น


ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น


1. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี

2. สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี

3. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี

4. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี

5. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี

6. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี

7. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี

8. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี

9. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี

10. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี

11. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี

12. โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่าน ป.อ. ปยุตโต

 

ภาพปฏิจจสมุปบาท หรือ ภวจักร, กาฬจักร หรือ สังสารจักร นี้ เขียนขึ้น จากแนวความคิด ของศาสนิกชน ชาวชมพูทวีป หรือ อินเดียและธิเบต เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษาธรรม ให้เข้าใจง่าย ดูภาพแล้ว เบาสบาย สามารถพิจารณาอยู่นาน ๆ จนเข้าใจความหมายได้แจ่มแจ้ง และช่วยให้เกิดความซาบซึ้ง ในพระธรรม และความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ประวัติที่มาของภาพปริศนาธรรม ปฏิจจสมุปบาท นี้ มีการเขียนภาพ ประกอบการศึกษาพระพุทธศาสนาทางตอนเหนือของอินเดีย แคว้นกัษมีระ เขาจะทำเป็นภาพประดับไว้ตามประตูอาราม ต่อมา เมื่อมีการนำพุทธศาสนา เข้าไปไว้ในธิเบต ชาวธิเบตจึงเป็นผู้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมการเขียนภาพ ปฏิจจสมุปบาท หรือ ภาพสังสารจักร ไว้ตามวัดต่าง ๆ ในธิเบต

อุปกรณ์หรือโสตทัศนศึกษาชิ้นนี้มีประโยชน์ทั้งในด้านปริยัติ และการปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้งในคำสอนสูงสุดของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน สามารถเข้าใจได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ถึงความจริงอันลึกลับของธรรมชาติ ตามหลักแห่งวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงบรรลุธรรม ค้นพบสายโซ่หรือห่วงแห่งความเกิด ความดับ ความเปลี่ยนแปลง ของปรากฏการณ์ อันเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ดังปรากฏหลักฐานที่พระองค์ตรัสอุทานเป็นภาษาบาลีว่า “อิม สฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ อิมสฺสมึ อสติ อิทํ นโหติ อิมสฺสมึ นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ” - เพราะสิ่งนี้ ๆ มีอยู่ สิ่งนี้ ๆ จึงมี, เพราะสิ่งนี้ ๆ เกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น, และเพราะสิ่งนี้ ๆ ไม่มี สิ่งนั้นจึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ ๆ ดับไป, สิ่งนั้นจึงดับไป หรือ ตรัสอีกอย่างหนึ่งว่า “อิติ โข ภิกขเว ยาตตฺร ตถาตา อวิตถตา อนญฺญ-ถตา อิทัปปจจยตา” ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติใด ในกรณีนั้น คือ ความเป็นอย่างนั้น ความไม่ผิดไปจาก ความเป็นอย่างนั้น ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ธรรมดังกล่าวนี้ พระพุทธองค์ตรัสเรียกสั้นๆว่า "ปฏิจฺจสมุปบาท" คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันเกิดขึ้น

- ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้ว นั่นเทียว คือ ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา คือ ความเป็นกฏตายตัวแห่งธรรมดา คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำว่า เมื่อศึกษาความรู้ตามภาพนี้จนเข้าใจได้แล้ว จะเกิดญาณทัสนะ คือ ความรู้แจ้ง ช่วยให้เกิดกำลังเข็มแข็งทางจิตใจ สามารถส่งผลในการปฏิบัติธรรมได้ตามความมุ่งหมายที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดมรรคผล คือ ความรอดพ้น ในการแก้ปัญหาชีวิต หรือแก้ความทุกข์ทั้งหลาย ที่ปรากฏเข้ามาสู่จิตใจคนเรา ให้ตกไปได้ในที่สุด

ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำเตือนพุทธบริษัททั้งหลายว่า การศึกษาปฏิบัติธรรม จากความรู้ที่ได้ยินได้ฟังก็ดี หรือจากภาพปริศนาธรรมก็ดี จากภาพสำแดงธรรมก็ดี จะช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วและง่ายขึ้น หากผู้สนใจศึกษาจะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบ พิจารณา อ่านใจของตนเอง รู้จักตัวเอง ทดสอบตนเอง พร้อม ๆ ไปกับความเข้าใจในปริยัติธรรมนั้น ๆ

คัดจาก หนังสือดอกโมกข์

รายตรีมาส ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ สิงหาคม-ตุลาคม ๒๕๔๒

 

The Tibetan Wheel of Life is another symbol of Buddhism, a depiction that represents the way they see the world and the human condition. The creature that is holding the wheel is Yama, the Lord of Death, symbolizing the inevitability of death and the temporary nature of all things. The cause of existence is made of ignorance, desire, and hatred, represented by a pig, a cockerel, and a snake. The six major sections represent the various possibilities of existence, or states of mind: god, part god, human, animal, ghost, hell. The Wheel suggests symbolically that it is only through birth as a human that an individual can move beyond Hell, ghost, and animal forms and begin to achieve liberation.


The Tibetan Wheel of Life depicting the Paticcasamuppada (Dependent Origination or the Cycle of Dependent Origination), summarizes the Buddha's teaching on the conditionality of all physical and mental phenomena of living beings in 12 parts. They are:


1. Avijja - ignorance or delusion

2. Sankhara - kamma-formations

3. Vinnana - consciousness

4. Nama-rupa - mind and matter

5. Salayatana - six sense bases

6. Phassa - contact or impression

7. Vedana - Feeling

8. Tanha - craving

9. Upadana - clinging

10. Bhava - becoming

11. Jati - rebirth

12. Jara-marana - old age and death


The 12 parts form a cycle, in which each part is conditioned by the preceding part, and in turn, conditions the part that follows like this--


1. Through Ignorance are conditioned the Sankharas, that is, the rebirth producing kamma-formations.

2. Through the kamma formations is conditioned Consciousness.

3. Through Consciousness are conditioned Mind and Matter.

4. Through the physical and mental phenomena are conditioned the 6 Bases.

5. Through the 6 Bases is conditioned (sensorial) Impression.

6. Through Impression is conditioned feeling.

7. Through Feeling is conditioned Craving.

8. Through Craving is conditioned Clinging.

9. Through Clinging is conditioned the process of kamma-formations and becoming.

10. Through the process of kamma formation is conditioned Rebirth.

11. Through Rebirth are conditioned Old Age, Death, Sorrow, Lamentation, Suffering, Grief and Despair.

Evametassa kevalassa dukkhakhandhassa sumudayo hoti: thus arises this whole mass of suffering.


A key expression of the principle of Paticcasamuppada is found in many sutras:


This is, because that is.

This is not, because that is not.

This ceases to be, because that ceases to be.


Dependent Origination is a core teaching of all schools of Buddhism. The universal law of cause of effect is the reality which applies to all things, from the natural environment, which is an external, physical condition, to the events of human society, ethical principles, life events and the happiness and suffering in our own minds.


bottom of page